ที่มา : เอกสารประกอบฐานการเรียนรู้สู่ความพอเพียง
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
"... การปรับปรุงดินนั้น
ต้องอนุรักษ์ผิวดินซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้
ไม่ไถหรือลอกหน้าดินทิ้งไป
สงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่
เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้นของผิวดิน ..."
พระราชดำรัสพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ เกี่ยวกับกรอนุรักษ์ดิน
ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยเฉพาะมนุษย์ใช้ทรัพยากรดินเป็นที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งผลิตอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นแหล่งสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นที่ตาย
กล่าวได้ว่าดินเป็นทรัพยากรขั้นมูลฐาน เป็นตัวการให้มนุษย์ได้เก็บเกี่ยวประโยชน์จากทรัพยากรอื่นๆ ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล จากการที่ดินเป็นตัวกลางในการก่อปฏิกิริยาร่วมระหว่างอากาศ น้ำและแสงแดด ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืชพรรณต่างๆ และมนุษย์ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรณ์เหล่านั้น ทั้งจากสัตว์ที่กินพืช และจากพืชโดยตรง
มนุษย์เราใช้ดินเพื่อตอบสนองความต้องการของตนตลอดเวลา และนับจะหนักขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ สภาพความสมดุลของดินในหลายพื้นที่ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไป การใช้ที่ดินผิดประเภท รวมถึงการทำลายผิวดิน เช่น การทำไร่เลื่อนลอย การตัดไม้ทำลายป่า การใช้ปุ๋ยเคมี กระทบต่อสภาวะแวดล้อมอื่นๆ ในระบบนิเวศด้วย
การทำเกษตรของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็เช่นกัน มีการ "ปอกเปลือก เปลือยดิน" การเผา การใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นวิธีการที่ผิดธรรมชาติและทำลายธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต
การเกษตรที่ไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ปอกเปลือกเปลือยดิน ไม่เผา ไม่ใช้สารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เป็นแนวทางของกสิกรรมธรรมชาติที่ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงดินเป็นอันดับแรก และถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะถือว่าดินเป็นต้นกำเนิดของชีวิต
สังคมไทยในอดีตให้ความสำคัญกับดิน ความเคารพบูชาเสมือน "แม่" เรียก "พระแม่ธรณี" การให้ความรักความเอาใจใส่โดยการห่มดิน หรือคลุมดิน ไม่เปลือยดิน โดยใช้ฟาง เศษหญ้า หรือเศษพืชผลทางการเกษตร ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
และการปรุงอาหารเลี้ยงดิน โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพลงไปเพื่อเป็นอาหารของดิน แล้วดินจะปลดปล่อยอาหารแก่พืชโดยกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ เรียกหลักการนี้ว่า "เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช"
การปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้ดินกลับมามีชีวิต พืชที่ปลูกก็จะเจริญเติบโตแข็งแรง ให้ผลผลิตดี ต้นทุนการผลิตลดลง รวมถึงการที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี จึงมีการให้นิยามของการปฏิบัติเช่นนี้ว่า
" คืนชีวิต ให้แผ่นดิน "
Comments