top of page

งานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ... คืออะไร ? ปีนี้มีกิจกรรมอะไรบ้าง?

อัปเดตเมื่อ 4 มิ.ย. 2565

งานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดินคืออะไร? มีกิจกรรมน่าสนใจอะไรบ้างในงานนี้? ใครที่สามารถเข้าร่วมงานนี้ได้? มาหาคำตอบกันจากบทความนี้เลย


จุดเริ่มต้น


จากจุดเริ่มต้นที่ชายคนหนึ่งได้ตัดสินใจลาออกจากงานราชการที่มีเกียรติ และมั่นคง มาลงมือปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ศาสตร์และคำสอนของพระราชาด้วยตนเองจนเห็นผลประจักษ์ โดยใช้เล้าหมูเป็นสถานที่ในการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้แก่ผู้ที่สนใจตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ เป็นต้นมา


โรงเรียนคอกหมูแห่งนี้ได้เติบโตขึ้นมาเป็น ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง สถานที่บ่มเพาะพัฒนาผู้คนหลากหลาย ที่ปรารถนาจะเดินตามรอยพระราชาเพื่อการพัฒนาตน และสังคมอย่างยั่งยืน


เมื่อวัน เดือน ปี ผ่านไป เหล่าลูกศิษย์ลูกหาของมหาลัยคอกหมูแห่งนี้ก็ได้ทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในปี ๒๕๔๙ เหล่าลูกศิษย์กลุ่มหนึ่ง จึงได้รวมตัวกันเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อแผ่นดิน ต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระผู้ทรงพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อชี้ทางรอดจากวิกฤต และต่อ “อาจารย์ยักษ์” ครูผู้ให้ความรู้และนำศาสตร์ของพระราชามาถ่ายทอดสู่ศิษย์ โดยการจัดงาน “มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน” ขึ้น


และหลังจากนั้นมางานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ก็ได้ถูกจัดขึ้นนับเป็นงานประจำปีของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ที่จะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม ซึ่งคาบเกี่ยวกับวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ยักษ์ ในวันที่ ๑๗ มีนาคม เพื่อให้ศิษย์ได้ถือโอกาสนี้มาแสดงมุฑิตาจิตโดยพร้อมเพรียงกัน ติดต่อกันมา




มาแล้วจะได้เรียนรู้อะไร?

ได้พบกับใคร?


งานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน เป็นงานที่รวมเหล่าบรรดาศิษย์ในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และผู้ที่เดินตามรอยทางของพระราชา โดยการนำคำสอนเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติบูชาจนเห็นผลกับตนเองในเชิงประจักษ์ แล้วนำความรู้และนวัตกรรมมาเผยแพร่ ขยาย และส่งต่อให้กับผู้อื่น


ในงานจะประกอบด้วย มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ศูนย์เรียนรู้ เครือข่ายเอามื้อสามัคคี ลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ รวมทั้งภาคีเครือข่ายเพื่อนมิตร ทั้ง ๗ ภาคส่วน อันประกอบด้วย

  1. ภาครัฐ

  2. ภาคเอกชน

  3. ภาควิชาการ

  4. ภาคศาสนา

  5. ภาคประชาชน

  6. ภาคประชาสังคม

  7. ภาคสื่อ


ที่จะนำเรื่องราวที่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ไปลงมือปฏิบัติจริงมาแสดงผลเชิงประจักษ์ ทั้งในรูปของข้าวปลาอาหาร สมุนไพร ความสมบูรณ์มั่งคั่ง ความรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ค้นพบจากการทำงานลงในผืนแผ่นดินมาแลกเปลี่ยน มาเล่าสู่กันฟัง มาเป็นกำลังใจให้กันเองในเครือข่าย


และเพื่อให้เป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ เผยแพร่องค์ความรู้และหัวใจของหลักปรัชญาพอเพียง ที่มีต้นธารมาจากพระราชา สู่คนใหม่ ๆ ที่สนใจ เพื่อให้องค์ความรู้นี้ได้รวมกันเป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ไหลแผ่ออกไปเป็นประโยชน์สุขต่อสังคม ประเทศชาติ โลก และมนุษยชาติต่อ ๆ ไป


ภายในงานจะเป็นการกลับมาพบกันของเหล่าศิษย์อาจารย์ในเครือข่าย ร่วมกันจัดกิจกรรม เอาดีมาอวด มาแบ่งปัน หลังจากที่ตลอดทั้งปี ต่างแยกย้ายกันไปทำหน้าที่คืนชีวิตให้กับแผ่นดินด้วยหลักกสิกรรมที่ได้เรียนรู้กันไป



ช่วงเวลาก่อนเริ่มงาน


พวกเราศิษย์เก่า ครู เพื่อน อาสาสมัครที่สนใจ จะมาร่วมใจกันดูแลบ้าน ปรับปรุงพื้นที่ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง เพื่อเตรียมตัวต้อนรับแขกที่จะมาเที่ยวชมในวันงาน สมาชิกแต่ละเครือข่ายจะรวบรวมองค์ความรู้ที่มีมาเปิดบูธแบ่งปันให้แก่ผู้สนใจเป็นธรรมทาน ไม่คิดค่าใช้จ่าย



กิจกรรมในงาน


งานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดินเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเดินเที่ยวชมกิจกรรมในงานได้ฟรี ซึ่งกิจกรรมก็ประกอบด้วยหลายส่วน ได้แก่



เวทีเสวนาประสาครูศิษย์

เป็นเวทีเสวนากลางให้เหล่าครู อาจารย์ และผู้มีความรู้ได้ขึ้นมาถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้พวกเราฟัง ซึ่งแต่ละปีก็จะมีหัวข้อเสวนาที่แต่ต่างกันออกไป และในปีหลังๆ มานี้ เราได้เพิ่มช่องทางการถ่ายทอดสดกิจกรรมบทเวทีผ่านทางระบบออนไลน์ไปพร้อมกันด้วย เดินเที่ยวชมงานเหนื่อยๆ ก็แวะมานั่งพักฟังเสวนากันได้ตลอดงาน ดูช่องทางโซเชียล



ห้องเรียน ๙ ฐานการเรียนรู้

เราเปิดห้องเรียนให้ผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ได้ฟรีภายในงาน (อาจต้องมีการลงทะเบียนเพื่อสำรวจความสนใจก่อนเริ่มงาน) เหมาะกับพาครอบครัว เด็กๆ มาลองทำกิจกรรมเพื่อกระชับความสัมพันธ์กัน ซึ่งแต่ละวิชาจะอยู่ภายใต้หมวดหมู่ดังต่อไปนี้

  • ฐานคนรักษ์แม่ธรณี

  • ฐานคนรักษ์สุขภาพ

  • ฐานคนมีน้ำยา

  • ฐานคนเอาถ่าน

  • ฐานคนมีไฟ

  • ฐานคนรักษ์แม่โพสพ

  • ฐานแปรรูป

  • ฐานคนรักษ์ป่า

  • ฐานคนหัวเห็ด

  • ฐานคนรักษ์น้ำ

  • ฐานขยะทองคำ

# ดาวน์โหลดฐานกิจกรรมในปีนี้ หรือ กดเพื่อดูแบบออนไลน์


ออกร้านขายสินค้าและผลผลิตจากศิษย์เก่า สมาชิกเครือข่าย

นอกจากกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้แล้ว สมาชิกของพวกเรายังขนสินค้าอันเป็นผลผลิตในพื้นที่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปตามภูมิปัญญาท้องถิ่น พืชพรรณสมุนไพร มาออกร้านให้ผู้มาเที่ยวงานได้แวะเวียนไปเลือกซื้ออีกด้วย ถ้าใครเป็นขาชอปอย่าลืมพกถุงผ้ามาไว้ใส่ของกลับบ้านด้วนนะ



โรงทาน

เรามีโรงทานให้ผู้มาร่วมงานได้รับประทานอาหารกันด้วย หรือท่านใดต้องการร่วมสนับสนุนอาหารให้ผู้มาเที่ยวชมงาน ก็สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ได้ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง




ใครบ้าง? ที่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้


งานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดินนี้ยินดีต้องรับผู้ที่สนใจทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะเป็นศิษย์เก่า หรือเป็นสมาชิกเครือข่ายกสิกรรมหรือไม่ ท่านสามารถเข้าร่วมงานได้ตลอดช่วงระยะเวลาการจัดงาน เดินเที่ยวชมได้ตามอัธยาศัย ไม่แน่ว่าท่านอาจได้เพื่อนใหม่ ที่มีอุดมการณ์ด้านการทำกสิกรรมร่วมกันกลับไปด้วย



การเตรียมตัวมาเที่ยวงาน




แผนที่เที่ยวชมในงาน


แผนที่เที่ยวงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่15 วันที่ 18-20 มี.ค.65


ติดตามข่าวสาร



 

เนื้อหาบางส่วนคัดมาจาก : ร่างงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่15 มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ



ดู 4,741 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page